ข่าวประชาสัมพันธ์

Beall's List รายชื่อวารสารและสำนักพิมพ์ที่ไม่ควรส่งผลงานไปตีพิมพ์เผยแพร่

 

           งานวิจัยเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งทำให้เกิดแรงผลักดันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมต่างๆ  ด้วยการที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาทำให้ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเผยแพร่เป็นบทความผ่านวารสารวิชาการ ซึ่งบทความต่างๆจะผ่านการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเดียวกัน  และการนำบทความต่างๆไปใช้ประโยชน์ก็จะสามารถตรวจสอบได้จากปริมาณการอ้างอิง (citation) จากบทความอื่น  ทั้งนี้ การรวบรวมบทความนับล้านเรื่องจากวารสารในสาขาวิชาต่างๆในโลกที่มีนับหมื่นรายการคงไม่ใช่เรื่องง่าย  จึงมีองค์กรที่รวบรวมรายการวารสารเหล่านี้ เช่น ISI Knowledge และ Scopus ได้สร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายความสำคัญวารสารแต่ละฉบับ  จัดสร้างดัชนี (Index) ของวารสาร เช่น Science Citation Index และ Scopus เพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณภาพวารสาร โดยดัชนีเหล่านี้มีหลักการเบื้องต้นคล้ายกันว่า วารสารที่ได้รับการอ้างอิงบ่อยกว่าก็จะถือว่ามีผลกระทบ (impact factor) 
          ด้วยสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้  ก่อให้เกิดการแสวงหาทรัพย์แทนที่จะเป็นกิจกรรมทางวิชาการ  โดยจะมีการสร้างวารสารใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีการจัดการเป็นอย่างดี จนสามารถสร้างวารสารใหม่ที่ปรากฏชื่ออยู่บนดัชนี แต่มีข้อสงสัยด้านคุณภาพการประเมิน และวารสารเหล่านี้มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการตีพิมพ์ที่สูง  ในขณะที่ วารสารที่ดีโดยทั่วไปมักจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์  กระบวนการเหล่านี้ นอกจากทำให้งานวิจัยขาดการประเมินที่เหมาะสม แล้วยังทำให้ผู้วิจัยเสียงานงานวิจัยที่ดีให้กับวารสารที่ไม่ได้คุณภาพ 
          Jeffrey Beall บรรณารักษ์ของ University of Colorado Denver ได้ทำการวิเคราะห์และรวบรวมรายชื่อสำนักพิมพ์และวารสารที่มีลักษณะที่ไม่น่าไว้ใจนี้ทุกปีหรือที่เราเรียกกันว่า Beall’s List โดยจะรายชื่อของสำนักพิมพ์ และวารสาร (ของต่างประเทศ)  ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ หรือวารสารที่หลอกลวงให้นักวิจัยส่งผลงานไปตีพิมพ์แล้วเรียกเก็บเงินเพื่อให้ผ่านขั้นตอนของการตอบรับการตีพิมพ์ ซึ่งรายชื่อของสำนักพิมพ์และวารสารที่ปรากฏอยู่ใน Beall’s List ถ้าท่านคณาจารย์ได้ส่งงานไปตีพิมพ์เผยแพร่อาจก่อให้เกิดผลกระทบและความน่าเชื่อถือต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยและอาจส่งผลต่อตัวคณาจารย์เอง เนื่องจากผลงานวิจัยที่นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารหรือสำนักพิมพ์ที่ปรากฏใน Beall’s List จะไม่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ ทำให้เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งหมายรวมถึง การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การพิจารณาทุนวิจัย การพิจารณารางวัล และการสมัครเข้ารับตำแหน่งในบางกรณี 
          สำหรับปี 2015 Beall ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มของสำนักพิมพ์ และกลุ่มของวารสาร เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา และบอกว่า ในปีนี้มีจำนวนสำนักพิมพ์ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นจากปี  2012 ที่มีจำนวน 23 สำนักพิมพ์   ในปี 2013  มีจำนวน 225 สำนักพิมพ์  ในปี 2014 มีจำนวน 477 สำนักพิมพ์ และในปี 2015 มีจำนวน 693 สำนักพิมพ์ ส่วนในกลุ่มของวารสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์ภายใต้ platform ของสำนักพิมพ์ใดเลย  ก็เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่มี 303 ชื่อ เพิ่มเป็น 507 ชื่อในปี 2015  จะเห็นว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก รายชื่อสำนักพิมพ์และวารสารที่อยู่ใน list มีการปรับปรุงอยู่เสมอ ซึ่ง Beall มีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ (ดูรายละเอียดได้จากใน link :http://scholarlyoa.com/2015/01/02/bealls-list-of-predatory-publishers-2015/ )


          ท้ายนี้ท่านคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ที่มีการทำผลงานวิจัยและไม่ต้องการให้ผลงานของตนไปเผยแพร่ในวารสาร และสำนักพิมพ์ที่อยู่ใน Beall’s List สามารถตรวจสอบได้ดังนี้
          1.    รายชื่อสำนักพิมพ์ที่ไม่ควรส่งผลงานวิจัยไปร่วม ไม่ว่าจะเป็น การประชุมวิชาการ (Proceeding) หรือวารสารวิชาการ (Journal)http://scholarlyoa.com/publishers/
          2.    รายชื่อวารสารที่ไม่ควรส่งไปตีพิมพ์ http://scholarlyoa.com/individual-journals/
          3.    รายชื่อวารสารที่ทำการลอกเลียนแบบ เว็บไซต์ ISSN จากวารสารที่มีชื่อเสียง หรือที่เราเรียกว่า Hijacked Journals http://scholarlyoa.com/other-pages/hijacked-journals/

 

 

อ้างอิง : http://ssru.ac.th/index.php/th/component/k2/item/1000.html



วันที่ : 3 เม.ย. 2558
ที่มา : s.suwannathen
อ่าน : 728